Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา





ความสำคัญ
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือราวเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน
วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน ๖) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้

๑. เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ
ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า

๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ
ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป

๓. เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีปของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลดเสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย
เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น
วันวิสาขบูชา จึงนับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ที่มีต่อปวงมนุษย์และสรรพสัตว์อันหาที่สุดมิได้
การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา เพื่อรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ พุทธกิจ ๕ ประการ
๑. ตอนเช้า เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ คือเสด็จไปโปรดจริง เพราะทรงพิจารณาเห็นตอนจวนสว่างแล้ว ว่าวันนี้มีใครบ้างที่ควรไปโปรดทรงสนทนา หรือแสดงธรรมให้ละความเห็นผิดบ้าง เป็นต้น
๒. ตอนบ่าย ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนที่มาเฝ้า ณ ที่ประทับ ซึ่งปรากฏว่าไม่วาพระองค์จะประทับอยู่ที่ใด ประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่าตลอดถึง ผู้ปกครอง นครแคว้นจะชวนกันมาเฝ้าเพื่อสดับตับพระธรรมเทศนาทุกวันมิได้ขาด
๓. ตอนเย็น ทรงเเสดงโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลที่อยู่ประจำ ณ สถานที่นั้นบางวันก็มีภิกษุจากที่อื่นมาสมทบด้วยเป็นจำนวนมาก
๔. ตอนเที่ยงคืน ทรงแก้ปัญหาหรือตอบปัญหาเทวดา หมายถึง เทพพวกต่างๆ หรือกษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพ ผู้สงสัยในปัญญาและปัญหาธรรม
๕. ตอนเช้ามืด จนสว่าง ทรงพิจารณาสัตว์โลกที่มีอุปนิสัยที่พระองค์จะเสด็จไปโปรดได้ แล้วเสด็จไปโปรดโดยการไปบิณฑบาตดังกล่าวแล้วในข้อ ๑
โดยนัยดังกล่าวมานี้พระพุทธองค์ทรงมีเวลาว่าอยู่เพียงเล็กน้อยตอนเช้าหลังเสวยอาหารเช้าแล้ว แต่ก็เป็นเวลาที่ต้องทรงต้อนรับอาคันตุกะ ผู้มาเยือนอยู่เนืองๆ เสวยน้อย บรรทมน้อย แต่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจมาก ตลอดเวลา ๔๕ พรรษานั้นเอง ประชาชนชาวโลกระลึกถึงพระคุณของพระองค์ดังกล่าวมาโดยย่อนี้ จึงถือเอาวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระองค์เป็นวันสำคัญ จัดพิธีวิสาขบูชาขึ้นในทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ธรรมเนียมการปฏิบัติในวันวิสาขบูชา
เมื่อวันวิสาขบูชาเวียนมาถึงในรอบปี พุทธศาสนาชนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต (พระสงฆ์ สามเณร) หรือ ฆราวาส (ผู้ครองเรือน) ทั่วไป จะร่วมกันประกอบพิธีเป็นการพิเศษทำการสักการบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณา พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นดวงประทีปโลก เมื่อวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงในวันเดียวกัน ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญวิสาขบูชา กลางเดือน ๖ ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา แบ่งออกเป็น ๓ พิธี คือ
๑.พิธีหลวง (พระราชพิธี)
๒.พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป)
๓.พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)
หลักธรรมที่สำคัญในวนวิสาขบูชาที่ควรนำมาปฏิบัติ ใน วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดมั่นในหลักธรรม ซึ่งหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่ 1. ความกตัญญู คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป 2. อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่ - ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่ มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพลาดจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ ความยากจน เป็นต้น - สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด - นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้ - มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ

กิจกรรมในวันวิสาขบูชา
1.ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา 3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล 4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา 6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา 7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ 8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

ป ร ะ วั ติ ค ว า ม เ ป็ น ม า ข อ ง วั น วิ ส า ข บู ช า ใ น ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้ แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย
วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติคือ "วันสำคัญของโลก" ( Vesak Day )
เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔ ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ International recognition of the Day of Visak โดยการเสนอของศรีลังกา
ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ
ถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฯ ศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถ้อยแถลงของนายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
เหตุผลที่ องค์การสหประชาชาติหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนา พุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน


แบบทดสอบหลังเรียน


การปกครองสมัยสุโขทัย


การปกครองสมัยสุโขทัย
อาณาจักรสุโขทัยเมื่อแรกตั้งเป็นอาณาจักรเล็กๆสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดคือ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีกษัตริย์ปกครองเป็นเอกราชติดต่อกันมา 6 พระองค์ อาณาจักรสุโขทัย เสื่อมลงและตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพญาไสลือไท โดยทำสงครามปราชัยแก่ พระบรมราชาที่ 1 แห่ง
กรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.1921 และราชวงศ์พระร่วงยังคงปกครองในฐานะประเทศราชติดต่อกันมาอีก 2 พระองค์ จนสิ้นราชวงศ์ ในปีพ.ศ.1981
ลักษณะการปกครองของสมัยสุโขทัย
เป็นการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรหรือการปกครองคนใน ครอบครัว (Paternalism) คือพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพ่อหรือข้าราชการบริพาเปรียบเสมือนลูกหรือคนในครอบครัวทำการปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับ ศาสตราจารย์ James N. Mosel ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปกครองของไทยในสมัยกรุงสุโขทัยไว้ว่ามีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ มีลักษณะเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกกับการดำเนินการปกครองแบบหัวเมืองขึ้น มีลักษณะคล้ายเจ้าผู้ครองนครกับยังได้ย้ำว่า การปกครองแบบหัวเมือง หรือเจ้าผู้ครองของไทย แตกต่างกับระบบเจ้าผู้ครองนครของยุโรปอย่างไรก็ดี สำหรับการปกครองแบบบิดากับบุตรนี้ในปาฐกถาของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยาม แต่โบราณได้อธิบายไว้ว่าวิธีการปกครองในสมัยสุโขทัยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินอย่างบิดาของประชาชนทั้งปวงวิธีการปกครองเอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น บิดาปกครองครัวเรือนหลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของพ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครอง เรียกว่า ลูกบ้าน หลายบ้านรวมกันเป็นเมืองถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของพ่อเมือง ถ้าเป็นประเทศราชเจ้าเมืองเป็นขุนหลายเมืองรวมกันเป็นประเทศที่อยู่ในความปกครองของพ่อขุน ข้าราชการในตำแหน่งต่าง ๆ เรียกว่าลูกขุน วิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตรยังใช้หลักในการปกครองประเทศไทยมา จนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่า ปกครองแบบพ่อปกครองลูกนี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัยตอนต้น ประชาชนมักใช้คำแทนตัวท่านว่าพ่อขุน จนเมื่ออิทธิพลของขอมเข้ามาแทรกแซงก็ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่าพระยาเสียทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ ซึ่งเดิมเปรียบเสมือนพ่อกับลูกได้กลายสภาพเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายไป
การปกครองระบบบิดากับบุตรนี้พระมหากษัตริย์ในฐานะบิดา ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดถ้าได้ พิจารณาถ่องแท้แล้วก็จะเห็นว่าถ้าผู้ปกครองประเทศคือพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมให้ความร่ม เย็นเป็นสุขแก่ราษฎรเสมือนหนึ่งบุตรประชาชนก็ย่อมจะได้รับความผาสุกแต่ถ้าการปกครองดังกล่าวมีลักษณะ
เป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายสวัสดิภาพของประชาชนในสมัยนั้นก็น่าจะไม่มีความหมายอะไร อย่างไรก็ดีการที่จะ ใช้ระบบการปกครองอย่างใดจึงเหมาะสมนั้นนอกจากขึ้นอยู่กับภาวะการณ์ต่างๆในแต่ละสมัยแล้วการเลือกใช้ วิธีการปกครองระบบบิดากับบุตรในสมัยนั้นน่าจะถือเอาการปกครองประเทศเป็นนโยบายสำคัญ
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ความสำเร็จบรรลุอุดมการณ์ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลง หลายประการ ตราบใดที่ประชาชนในยุคประชาธิปไตยยังรำลึกว่าตนอยู่ในฐานะบุตรที่ผู้ปกครองในฐานะบิดา จะต้องโอบอุ้มตลอดไปบุตรคือประชาชนก็จะขาดความรับผิดชอบละขาดความสำนึกในทางการเมืองที่จะปลูก ฝังและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยได้เช่นกัน หากผู้ปกครองต้องอยู่ในฐานะบิดาที่คอยโอบอุ้มและกำหนด ความต้องการของประชาชนในฐานะบุตรแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยที่จะให้บรรลุอุดมการณ์แท้จริงก็เป็นสิ่ง ที่หวังได้โดยยาก

ลักษณะการปกครองแบ่งออก เป็น 3 ส่วน
1.) เมืองหลวง - สุโขทัย
2.) หัวเมืองชั้นใน - ทิศเหนือ เมืองศรีสัชชนาลัย(สวรรคโลก)
ทิศตะวันออก เมืองสองแคว (พิษณุโลก)
ทิศใต้ เมืองสระหลวง (พิจิตร )
ทิศตะวันตก เมืองกำแพงเพชร
3.) หัวเมืองชั้นนอก ( เมืองพระยามหานคร) ได้แก่ เมืองหล่ม เมืองเพชรบูรณ์ เมืองศรีเทพ เมืองแพรก(สรรค์บุรี) เมืองสุพรรณบุรี(อู่ทอง) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบูรณ์ เมืองตะนาวศรี
นอกจากนี้ ยังมีเมืองประเทศราช ได้แก่
ทิศตะวันออก - เมืองน่าน เมืองเซ่า(เมืองหลวงพระบาง) เวียงจันทร์ เวียงคำ
ทิศใต้ - เมืองนครศรีธรรมราช เมืองมะละกา และเมืองยะโฮร์
ทิศตะวันตก - เมืองทะวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองหงสาวดี
แบบทดสอบหลังเรียน